30 September 2019

เรียนรู้มากแค่ไหน ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่นับเป็นการพัฒนา

;


การพัฒนาตนเองคืออะไร

คำถามที่ทุกองค์กรต่างพยายามหาคำตอบ เพื่อพาพนักงานเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทำให้มีบุคคลากรที่เก่งขึ้น ดีขึ้น มีความรู้มากขึ้น แต่หลายคนยังขาดความเข้าใจที่แท้จริงถึงหัวใจสำคัญที่ว่า ถ้าอยากให้การเรียนรู้ได้ผลดี ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน 

The Secret Sauce เอพิโสดนี้ เคน นครินทร์ คุยกับ จี๊ด-ปัทมาวลัย รัตนพล (Chief People Officer, Minor International & Minor Food)

การพัฒนา = การเปลี่ยนแปลง

ถ้าพูดถึงตัวบุคคล การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างคนที่ไปลงเรียนคอร์สเพิ่มเติม ถ้าเขาสามารถเอาบทเรียน 1-2 ประเด็นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิด วิถีชีวิต หรือการดำเนินงาน นั่นนับว่ามีการพัฒนาแล้ว กลับกัน บางคนอาจไปเรียนแล้วรู้สึกดีมาก แต่กลับมาก็ยังทำงานเหมือนเดิม แบบนั้นเท่ากับการไปฟังเฉยๆ 

ทำไมการพัฒนาตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การมาถึงของยุค Disruption ย้ำเตือนเราว่า ประสบการณ์ในอดีตไม่สามารถใช้กับอนาคตได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเท่ากับการออกจากคอมฟอร์ตโซน  คนที่สามารถอยู่รอดได้คือคนที่ ‘ต้องกล้า’ และ ‘ต้องการ’ เปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครมาสั่ง 

ยกตัวอย่างที่ Minor สมัยก่อนเรามีการสอนพนักงานและให้ทดลองทำโปรเจ็กต์ โปรเจ็กต์ทำยาวๆ 3-5 ปีก็ว่ากันไป แต่เดี๋ยวนี้เราให้ทำ Hackathon ภายใน 72 ชั่วโมง โปรเจ็กต์ต้องเสร็จ เป็นวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ 

เรียนรู้แล้วต้องนำไปใช้จริง

หลังจากโดนประเมินพนักงานเสร็จ ถ้ามีเรื่องที่ต้องปรับปรุง 3 เรื่อง สิ่งที่หัวหน้าและทีมงานต้องทำร่วมกันต่อ คือการคิดว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ใช่คิดว่าต้องไปลงเรียนอะไร 

การทำเทรนนิ่งไม่ใช่แค่ทำครั้งเดียวแล้วจบ บางครั้งมีคนเชิญพี่ไปเป็นสปีกเกอร์บรรยายให้คนเสียเงินเข้ามาเรียน พี่มักพูดเสมอว่า  “ที่มาพูดวันนี้ คุณเอาไปใช้ได้ไม่หมดหรอก หลังจากจบคลาสถ้าใครอยากติดต่อกับพี่ สามารถทักมาได้เลย เพื่อเอาปัญหามาพูดคุยกัน เพราะพี่เป็นหนี้บุญคุณทุกคนที่เสียเงินมาร่ำเรียน” แต่ส่วนใหญ่พวกเขาก็มักจะเงียบ หรืออย่างน้อยก็มีการติดต่อกันแค่ 1-2 ครั้ง เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะการเทรนนิ่งที่ดี ควรมีโค้ชคอยนำบทเรียนมาทำให้เกิดแอคชัน

ติดอาวุธแห่ง  ‘ความอยากเรียนรู้’

สิ่งที่ควรทำคือการเริ่มต้นจากการหาเป้าหมายและสร้าง Career Path ที่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มี 2 เรื่องนี้ บางทีเราก็ไม่รู้จะเรียนรู้ไปทำไม ยกตัวอย่างพนักงานฝ่ายบัญชีที่ Minor พวกเขาอยากลงเรียนภาษาอังกฤษ เพราะบริษัทเรามีพนักงานต่างชาติจำนวนมาก พี่เลยบอกว่า “ได้ พี่จ้างให้ แต่ทุกวันศุกร์ คุณต้องไปเป็นพนักงานขายที่เบอร์เกอร์คิงส์สาขาถนนข้าวสารนะ เพื่อจะได้ทดลองใช้วิชาที่เรียนมาจริงๆ” สรุปพวกเขาก็เงียบ มีข้ออ้างสารพัด และไม่ได้เรียนในที่สุด ดังนั้นถ้าอยากเรียนรู้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำไปทำไม

รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองชอบเรียนรู้แบบไหน 

วิธีการเรียนรู้มีหลากหลายแบบ บางคนชอบอ่านหนังสือ บางคนชอบนั่งสนทนาเป็นกลุ่ม บางคนชอบตั้งคำถามและทดลองทำ 

ถ้าอยากแนะนำให้พนักงานตนเองให้การเรียนรู้ที่เหมาะสม ต้องให้พวกเขาได้ทดลองและถามตัวเองเสมอว่า สิ่งที่ทำอยู่ เรารู้สึกสนุกและเอนจอยกับมันบ้างไหม สมัยก่อนพี่ไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แต่ถูกบังคับให้อ่าน เราก็เริ่มจากการอ่านหนังสือที่มีรูปภาพเป็นส่วนใหญ่ แล้วค่อยเขยิบมาอ่านหนังสือคำคม จนกระทั่งสามารถอ่านหนังสือที่มีตัวหนังสือจำนวนมากได้ในที่สุด 

ที่สำคัญไม่ว่าจะชอบเรียนรู้แบบไหน คุณต้องเก่งในการจดบันทึก เพราะมันคือการจับประเด็น เพื่อนำมาใช้ต่อ ใช้หลักง่ายๆ ตาดู หูฟัง มือจด ทำยังไงก็ได้ให้เกิดการใข้ต่อ 

สรุปข้อคิดจากการพัฒนาตนเอง 

1. อย่าเรียนรู้จากมุมมองตัวเอง แต่ให้เรียนรู้จากฟีดแบ็กของคนอื่น 
2. ถ้าอยากวัดว่าการเรียนรู้ได้ผลหรือไม่ ให้ดูที่เรื่องราวความสำเร็จหลังจากนั้น 
3. หาต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจ คอยดูวิธีคิดและการทำงานของเขา และนำมาประยุกต์กับตนเองให้ดีขึ้น
4. ต้อง Unlearn พยายามคิดสิ่งใหม่ๆ อะไรที่ใช้มาเกิน 3 ปี ลองกลับมาพิจารณาดูอีกทีว่ายังจำเป็นอยู่ไหม 
5. สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต คือการนั่งอยู่เฉยๆ แล้วรอให้คนอื่นยื่นความรู้ให้
6. สิ่งที่ควรเรียนรู้ที่สุดคือเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่โปรแกรมที่องค์กรมีให้ แต่เป็นการหาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มาประยุกต์ใช้ให้งานเราดียิ่งขึ้น 

Jobs Search